ใบความรู้ เรื่อง การจัดทำโครงงาน

โครงงาน คืออะไร

โครงงาน คือ งานวิจัยเล็กๆสำหรับนักเรียนเป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หากเนื้อหาหรือข้อสงสัยเป็นไปตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด จะเรียกว่าโครงงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ

สำหรับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้  คือ

1. เมื่อนักเรียนเกิดปัญหา

2. นักเรียนก็ตอบปัญหาชั่วคราว (สมมุติฐาน)

3. นักเรียนจะต้องออกแบบการทดลอง เพื่อพิสูจน์ปัญหาว่าจริงหรือไม่

4. ทำการทดลอง หรือ ศึกษาค้นคว้าเพื่อสรุปผล

4.1 ถ้าคำตอบไม่ตรงกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ ก็ตั้งสมมุติฐานใหม่ และเกิดคำถามใหม่

4.2 และทำข้อ 3 ข้อ 4 จนเป็นจริง

5. นำผลที่ได้ไปใช้ประโยชน์

 

ในการทำโครงงานแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ควรจะมีระยะเวลาและวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรมากนัก และควรจะเป็นไปตามระดับสติปัญญาของนักเรียนในแต่ละระดับด้วย

การสอนการจัดทำโครงงานนั้น ควรจะสอนภายใต้เงื่อนไขว่า การที่นักเรียนจะมีทักษะในการคิด หรือการตอบปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองพร้อมกับตัวนักเรียน แต่จะเกิดขึ้นมาจากการสอนหรือฝึกฝนให้นักเรียนทำ และการฝึกที่ดีที่สุด คือ ควรจะฝึกตั้งแต่นักเรียนยังเล็ก และควรจะเข้าใจด้วยว่า โครงงานแรกที่นักเรียนทำและประสบความสำเร็จจะสร้างความมั่นใจและเป็นแรงผลักดันให้นักเรียนทำโครงงานอื่นต่อๆไป หรือกล่าวได้ว่า โครงงานแรก มีความสำคัญสูงสุดในชีวิตของนักเรียน ครูจะต้องดูแลให้นักเรียนเลือกทำที่เหมาะสมกับความสามารถ เพื่อเขาจะได้ทำโครงงานจนสำเร็จครบขั้นตอน ทั้งนี้เพราะการเริ่มต้น ด้วยความสำเร็จย่อมเป็นการเริ่มต้นที่ดีเสมอ

การจัดกระบวการเรียนรู้แบบโครงงานนั้น นอกจากจะมีคุณค่าทางด้านการฝึกให้นักเรียนมีความรู้ ความชำนาญ และมีความมั่นใจ ในการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือค้นคว้าหาความรู้ต่างๆด้วยตนเองแล้ว ยังจะให้คุณค่าอื่นๆอีก คือ

1. รู้จักตอบปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่เป็นคนที่หลงเชื่องมงาย ไร้เหตุผล
2. ได้ศึกษาค้นคว้า หาความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจได้อย่างลึกซึ้งกว่าการสอนของครู
3. ทำให้นักเรียนได้แสดงความสามารถพิเศษของตนเอง
4. ทำให้นักเรียนสนใจเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆมากยิ่งขึ้น
5. นักเรียนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ประเภทของโครงงาน
เนื่องจากโครงงาน คือ การแก้ปัญหาหรือข้อสงสับของนักเรียน โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ถ้าเนื้อหาหรือข้อสงสัยตรงกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ใด ก็จัดเป็นโครงงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ จึงแบ่งโครงงานตามการได้มาซึ่งคำตอบของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ออกเป็น 4 ประเภท คือ

1. โครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล
2. โครงงานประเภททดลอง
3. โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์
4. โครงงานประเภททฤษฎี

โครงงานประเภทการสำรวจและรวบรวมข้อมูล

โครงงานประเภทนี้ ผู้ทำโครงงานเพียงต้องการสำรวจและรวบรวมข้อมูล แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เห็นลักษณะและความสัมพันธ์ในเรื่องที่ต้องการศึกษาให้ชัดเจน
การสำรวจและรวบรวมข้อมูลอาจทำได้หลายรูปแบบแล้วแต่กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้นๆ เช่น

    • สำรวจราชาศัพท์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
    • สำรวจชื่อพืชเศรษฐกิจของจังหวัดที่นักเรียนอยู่       ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา
    • สำรวจคำศัพท์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
    • สำรวจชนิดของกีฬาท้องถิ่นในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
    • สำรวจสารเคมีภายในบ้าน       ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
    • สำรวจวิธีบวกเลขที่ชาวบ้านนิยมใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์

ในการทำโครงงานประเภทการสำรวจข้อมูล ไม่จำเป็นต้องมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้องนักเรียน เพียงแต่สำรวจข้อมูลที่ได้ แล้วนำข้อมูลมาจัดเป็นหมวดหมู่และนำเสนอ ก็ถือว่าเป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้ว

โครงงานประเภททดลอง

ในการทำโครงงานประเภททดลอง ต้องมีการจัดการกับตัวแปรที่จะมีผลต่อการทดลอง ซึ่งจะมี 4  ชนิด คือ

  1. ตัวแปรต้น หรือ ตัวแปรอิสระ หมายถึง เหตุของการทดลองนั้น
    2. ตัวแปรตาม ซึ่งจะเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวแปรต้น
    3. ตัวแปรควบคุม หมายถึง สิ่งที่ต้องควบคุมให้เหมือน ๆ กัน มิฉะนั้นจะมีผลทำให้ตัวแปรตามเปลี่ยนไป
    4. ตัวแปรแทรกซ้อน ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือ ตัวแปรควบคุมนั่นเอง แต่บางครั้งเราจะควบคุมไม่ได้ ซึ่งจะมีผลแทรกซ้อน ทำให้ผลการทดลองผิดไป แต่แก้ไขได้โดยการตัดข้อมูลที่ผิดพลาดทิ้งไปตัวอย่างเช่น นักเรียนต้องการศึกษาว่า กระดาษชนิดใดสามารถพับเครื่องร่อน และปาได้ไกลที่สุดตัวแปรต้น คือ ชนิดของกระดาษ
    ตัวแปรตาม คือ ระยะทางที่กระดาษเคลื่อนที่ได้
    ตัวแปรควบคุม คือ แรงที่ใช้ปากระดาษ ความสูงของระยะที่ใช้ปา
    ตัวแปรแทรกซ้อน เช่น บางครั้งขณะปามีลมพัดเข้ามา ซึ่งจะทำให้ข้อมูลผิดพลาดไป

 

 

โครงงานประเภททดลองเหมาะสำหรับนักเรียนที่ศึกษาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เช่น ครูต้องการสอนให้นักเรียนทราบว่า ในพืชชนิดใดมีวิตามินซีมากหรือน้อยอย่างไร แทนที่ครูจะบอกความรู้แก่นักเรียน ครูก็สอนโดยให้นักเรียนทำโครงงาน โดยให้สำรวจปริมาณวิตามินซี ในพืชผักผลไม้ในท้องถิ่น เป็นต้น

แต่ก็นำไปใช้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนอาจทำโครงงานเกี่ยวกับการเพาะเห็ดฟาง โดยศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดว่า วัสดุชนิดใดเพาะเห็ดได้ดีที่สุด โดยมี

ตัวแปรต้น คือ วัสดุที่ใช้เพาะเห็ด
ตัวแปรตาม คือ ปริมาณเห็ดที่ได้

จะทำให้นักเรียนได้ทราบว่าวัสดุในท้องถิ่นของนักเรียนชนิดใดเพาะเห็ดได้ดีที่สุด

วิชาภาษาไทย ครูอาจจะให้นักเรียนทำโครงงานเกี่ยวกับการอ่าน โดยศึกษาเปรียบเทียบเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงและอ่านในใจ ว่าวิธีใดจะสามารถทำให้ผู้อ่านจำได้ดีกว่ากัน โดยมี

ตัวแปรต้น คือ การอ่านในใจและการอ่านออกเสียง
ตัวแปรตาม คือ ความจำของนักเรียน
นักเรียนจะได้ทราบวิธีการอ่านและทราบอื่นๆอีกมาก

โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์

โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการนำความรู้ที่มีอยู่มาประดิษฐ์หรือสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากมาย ผู้เขียนจะรวมถึงการเขียนหนังสือ แต่งเพลง สร้างบทละคร และอื่น ๆ ไว้ในโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้วย

โครงงานประเภทนี้ เช่น การประดิษฐ์ไม้ปิงปองแบบใหม่ การหาวัสดุมาติดไม้ปิงปองแล้วตีได้ดีขึ้น การแต่งบทประพันธ์ การเขียนหนังสือประกอบการเรียนแทนหนังสือเรียนที่ใช้กันอยู่แล้ว การออกข้อสอบเพื่อเพื่อน ๆ ใช้สอบแทนข้อสอบที่ครูออก เป็นต้น

 

โครงงานประเภททฤษฎี

          โครงงานประเภททฤษฎี เป็นการใช้จินตนาการของตนเองมาอธิบายหลักในรูปของหลักสูตรหรือ สมการ หรือ อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่สามารถอธิบายได้โดยหลักการเดิมๆ การทำโครงงานประเภทนี้ ผู้ทำโครงงานจะต้องมีความรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี จึงสามารถอธิบายได้อย่างมีเหตุผลและน่าเชื่อถือจึงไม่เหมาะสมที่จะทำในระดับนักเรียนมากนัก

ขั้นตอนในการสอนแบบบูรณาการโครงงาน
1. การเลือกเรื่องที่จะให้นักเรียนทำโครงงาน

การที่ครูจะสอนนักเรียนโดยบอกความรู้ให้นักเรียนหรือให้นักเรียนฝึกหาความรู้จากปฏิบัติการ (LAB) เดิม ๆ เสมอไปคงจะไม่ถูกต้องนัก ครูควรจะสอนโดยให้นักเรียนได้รับกระบวนการหาความรู้หรือที่เรียกว่า ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งก็ควรจะเป็นการสอนด้วยโครงงาน การเลือกหัวข้อโครงงานให้นักเรียนศึกษาที่ง่ายที่สุด คือ ให้นักเรียนไปสำรวจรวบรวมข้อมูลจากเรื่องที่เราจะสอนนักเรียน ตัวอย่างโครงงาน เช่น

* รวบรวมความรู้และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในการช่วยเหลือตนเอง
* รวบรวมลักษณะทั่วไป ส่วนประกอบและบริเวณที่ขึ้นของพืชรอบ ๆ ตัว
* รวบรวมธรรมชาติทั่วไปของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ต่าง ๆ ที่รู้จัก
* รวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ และพืช
* รวบรวมสภาพภูมิศาสตร์ของโรงเรียน หมู่บ้าน วัด
* รวบรวมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในบ้าน
* รวบรวมชนิดและวิธีใช้ยาสามัญประจำบ้าน

ครูต้องการให้นักเรียนศึกษาในเรื่องใด ก็ให้นักเรียนสำรวจและรวบรวมข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นการทำโครงงานที่ง่าย นักเรียนก็ชอบทำ โดยที่ครูอาจให้นักเรียนสำรวจจากสภาพใด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีอยู่แล้วในเอกสารประกอบการสอน และให้นักเรียนวิเคราะห์ผลที่ได้ ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีความรู้มากยิ่งขึ้นหัวข้อที่นักเรียนเลือกทำโครงงานอาจตรงกันก็ได้ แต่ลักษณะเนื้องานจะแตกต่างกัน

2. ออกแบบการทำงาน

ครูอาจจะนำหัวเรื่องที่เขียนไว้ให้นักเรียนเลือกหัวเรื่องที่จะศึกษา (ให้ตรงกับเนื้อเรื่องที่เราต้องการสอน) แล้วนำหัวเรื่องที่เราต้องการสอนมาวิเคราะห์ และควรจะมีแนววิเคราะห์ของผู้สอนเองแต่อาจใช้แบบวิเคราะห์ตรง ๆ ได้ดังนี้ คือ

1. ชื่อเรื่อง
2. ผู้ทำโครงงาน
3. ปัญหาหรือเหตุผลจูงใจในการทำงาน
4. ตัวแปร (ถ้ามี) ตัวแปรต้น,ตัวแปรตาม,ตัวแปรควบคุม
5. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
6. แหล่งข้อมูลที่นักเรียนจะศึกษา
7. ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษากี่วัน และศึกษาช่วงเวลาใด (ครูต้องจัดตารางเวลาให้ดีเพราะจะกระทบกับเวลาของอาจารย์ท่านอื่น ๆ)
8. นักเรียนจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์และค่าใช้จ่ายใดบ้าง หาจากแหล่งใด

3. การลงมือทำโครงงาน

มีขั้นตอนการศึกษาค้นคว้าอย่างไร ทำอย่างไร เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร

4. การเขียนรายงาน

นักเรียนเขียนรายงานการทำโครงงาน ในรายงานการทำโครงงานอาจเขียนตามหัวข้อที่กำหนด หรือมีสิ่งอื่นที่ต้องการบอกให้ทราบ ซึ่งสามารถจะปรับเปลี่ยนได้

5. การนำเสนอโครงงาน

การนำเสนอโครงงานเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะเป็นการสะท้อนการทำงานของนักเรียน ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ทำ การตอบข้อซักถาม บุคลิดท่าทาง ท่วงท่า วาจา ไหวพริบปฏิภาณ นักเรียนควรได้รับการฝึกบุคลิกภาพในการนำเสนอให้สง่าผ่าเผย (Smart) พร้อมทั้งฝึกนักเรียนผู้ฟังให้มีมารยาทในการฟังด้วย

 

6. การวัดผล ประเมินผล

ประเมินผลการทำงาน โดยการสังเกตพฤติกรรมระหว่างการทำงาน วัดผลตัวความรู้ โดยการซักถาม หรือวิธีการอื่นๆ ควรให้นักเรียนได้มีการประเมินตนเอง ประเมินโดยเพื่อน ประเมินโดยครู ประเมินโดยผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่นที่มาเยี่ยมชม

บทบาทของครูอาจารย์ที่ปรึกษา

1. ใช้วิธีการต่างๆที่จะกระตุ้นให้นักเรียนคิดหัวข้อเรื่องโครงงาน
2. จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน
3. ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด
4. ให้กำลังใจในกรณีล้มเหลว ควรแก้ปัญหาและปรับปรุงพัฒนาต่อไป
5. ชี้แนะแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ ผู้รู้ เอกสารต่างๆ ในการศึกษาค้นคว้า
6. ประเมินผลงาน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จัดเวที สถานที่ให้แสดงผลงาน ความรู้ ความสามารถ การเสนอผลงานโครงงาน

การเสนอผลงานโครงงาน

การให้นักเรียนผู้ทำโครงงานได้เสนอผลงาน เป็นการเผยแพร่ผลงาน กิจกรรมนี้จะส่งเสริมให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก เชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในผลงาน ตอบข้อซักถามของผู้สนใจได้ การเสนอผลงานมีหลายลักษณะ คือ

1. บรรยายประกอบแผ่นใส / สไลด์
2. บรรยายประกอบแผงโครงงาน
3. จัดนิทรรศการ

การเขียนรายงานโครงงาน

การเขียนรายงานโครงงาน เป็นการเสนอผลงานที่นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้ามาโดยตลอดจนงานเสร็จสมบูรณ์ หัวข้อในการเขียนรายงานโครงงาน มีดังนี้

1. ชื่อโครงงาน
2. ชื่อผู้ทำโครงงาน / โรงเรียน / พ.ศ. ที่จัดทำ
3. ชื่อครูที่ปรึกษาโครงงาน
4. บทคัดย่อ(บอกเค้าโครงอย่างย่อ ๆ ประกอบด้วย เรื่อง/วัตถุประสงค์/วิธีการศึกษา/สรุปผล)
5. กิตติกรรมประกาศ( แสดงความขอบคุณบุคคล หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ )
6. ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
7. วัตถุประสงค์ของการศึกษาค้นคว้า
8. สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า
9.วิธีการดำเนินการ
10. ผลการศึกษาค้นคว้า
11.สรุปผล
12. ประโยชน์ ข้อเสนอแนะ
13. เอกสารอ้างอิง

 

ใส่ความเห็น